วันเสาร์, 18 มกราคม 2568

รพ.มะเร็งอุบลฯ ชูแผนปีงบประมาณ 2565 เดินหน้าพัฒนาโรงพยาบาล

รพ.มะเร็งอุบลฯ มุ่งยกระดับการบริการผู้ป่วยมะเร็งในเขตอีสานใต้

โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี ชูแผนปีงบประมาณ 2565 เดินหน้าพัฒนาโรงพยาบาล ยกระดับการบริการ การรักษาพยาบาล ทั้ง OPD, IPD พร้อมปรับปรุงสิ่งแวดล้อม อำนวยความสะดวกให้ผู้รับบริการ พร้อมก้าวเป็นโรงพยาบาลมะเร็งที่ครบวงจรในเขตภาคอีสานใต้

นพ.พงศธร ศุภอรรถกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี กล่าวว่า การดำเนินงานในปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมา แม้โรงพยาบาลจะประสบกับวิกฤตการณ์ของโรคโควิด-19 จนทำให้จำนวนผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาอาจลดลงไปบ้าง เนื่องจากผู้ป่วยอาจกังวลในการแพร่ระบาด แต่โรงพยาบาลมะเร็งอุบลฯ ได้มีการปรับตัวป้องกันโควิด-19 ด้วยมาตรการที่เข้มงวด โดยการคัดกรองผู้ป่วย รวมถึงมีการใช้การรักษาทางไกล หรือ Telemedicine เพื่อให้สามารถบริการ และรักษาผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ เพราะโรงพยาบาลไม่มีนโยบายในการลดจำนวนคนไข้ หรือเลื่อนการรักษาแต่อย่างใด และโรงพยาบาลยังสามารถพัฒนา ปรับปรุง และให้บริการผู้ป่วยได้ในระดับที่ดี

สำหรับแผนการดำเนินงานต่อไปในปีงบประมาณ 2565 นพ.พงศธร กล่าวว่า สิ่งที่โรงพยาบาลจะมุ่งเน้นคงเป็นเรื่องของการพัฒนาการบริการ เนื่องในโอกาสที่กรมการแพทย์ครบรอบ 80 ปีแห่งการก่อตั้ง จึงมีนโยบายให้โรงพยาบาลในสังกัดพัฒนาระบบการบริการ และการรักษาพยาบาลให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ให้ทันสมัย ซึ่งโรงพยาบาลเราก็พยายามที่จะเดินหน้าตามนโยบายดังกล่าว เพื่อที่จะให้การรักษาพยาบาลและบริการผู้ป่วยเป็นไปด้วยความประทับใจ โดยสิ่งที่เราจะทำหลักๆ คือปรับปรุงในส่วนของผู้ป่วยนอก (OPD), ผู้ป่วยใน (IPD) และปรับปรุงเรื่องของสิ่งแวดล้อมภายในโรงพยาบาล ไปจนถึงการปรับปรุงอาหารของผู้ป่วยและญาติ

โดยผู้ป่วยนอก (OPD) เราพยายามจะปรับปรุงให้เป็น Smart OPD ด้วยการเพิ่มระบบการนัดทางออนไลน์ มีการตรวจสอบสิทธิ์ด้วยตู้อัตโนมัติ มีการปรับปรุงสภาพสิ่งแวดล้อมของอาคาร OPD ให้ดีขึ้น เนื่องจากโรงพยาบาลมีแนวคิดในด้านการบริการให้ใกล้เคียงกับเอกชนมากที่สุด และดูแลผู้ป่วยทุกคนแบบ VIP รวมถึงห้องตรวจทุกห้องต้องมีเครื่องปรับอากาศ มีระบบการไหลเวียนและระบายอากาศที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อของโรคต่างๆ และในแง่ของผู้ป่วยใน (IPD) โรงพยาบาลจะเน้นปรับปรุงเรื่องการอำนวยความสะดวกให้มากขึ้น ด้วยการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ รวมถึงระบบระบายอากาศเพื่อลดการติดเชื้อให้ครบในทุกห้องเช่นเดียวกัน ส่วนสิ่งแวดล้อมทั่วๆ ไปของโรงพยาบาล เราจะปรับให้คล้ายกับรีสอร์ท มีการทำสวนสาธารณะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับโรงพยาบาลด้วย

ส่วนในด้านอาหารของผู้ป่วย โรงพยาบาลจะเน้นให้โภชณากรของเราทำอาหารออกมาให้มีประโยชน์และคุณภาพที่ดี โดยใช้วัตถุดิบที่เป็นออแกนิค ไม่มีสารพิษหรือสารเคมี และที่สำคัญคือส่งอาหารถึงผู้ป่วยในตามเวลา พร้อมทั้งยังมีบริการอาหารให้กับญาติที่มาเฝ้าผู้ป่วยห้องพิเศษ โดยจะมีเมนูให้เลือกและไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มด้วย ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาจะเป็นแผนที่โรงพยาบาลของเราจะปรับปรุงและพัฒนาในปีงบประมาณ 2565 นี้ เพื่อให้เป็นไปตามแนวคิดในการสร้างบริการที่ประทับใจ สามารถดูแลผู้ป่วยทุกคนอย่างทั่วถึงเปรียบเสมือนเป็น VIP

ขณะเดียวกันในด้านเทคโนโลยี เมื่อประมาณ 1-2 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลเรามีการจัดทำแอปพลิเคชัน ที่ทำร่วมกันในกรมการแพทย์ เรียกว่าแอปพลิเคชัน EASY โดยโรงพยาบาลมะเร็งอุบลฯ จะเป็น UBCH EASY (อุบลฯ แคนเซอร์ เซ็นเตอร์ อีซี่) ซึ่งจะคล้ายกับแอปพลิเคชันของธนาคาร โดยผู้ป่วยที่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน เมื่อมารับการรักษาที่โรงพยาบาลก็จะสามารถเปิดดูผลการตรวจ รวมถึงชนิดของยาที่ทานได้ รวมถึงยังสามารถดูประวัติการรักษาต่างๆ ในกรณีที่เข้ารักษาที่โรงพยาบาลอื่น ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถนัดหมายทางออนไลน์ได้ด้วย ซึ่งถือเป็นประโยชน์มากๆ สำหรับผู้ป่วย โดยในปีนี้โรงพยาบาลจะคงพัฒนาแอปพลิเคชันดังกล่าวต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นเวอร์ชั่นที่ดีขึ้นเรื่อยๆ สามารถเพิ่มความสะดวก รวดเร็วให้กับผู้ป่วยได้

ทั้งนี้ ในส่วนของงบประมาณ ยังอยู่ในกระบวนการจัดทำ ซึ่งกำลังให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนำเสนอแผนอยู่ โดยการปรับปรุงพัฒนาโรงพยาบาลดังกล่าว คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 6 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 นี้ โรงพยาบาลยังได้รับงบประมาณในส่วนของเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อจัดซื้อเครื่องฉายรังสีใหม่ มูลค่า 180 ล้านบาท มาทดแทนเครื่องเก่าที่มีอายุการใช้นานเกิน 10 ปี โดยเครื่องฉายรังสีใหม่นี้สามารถให้บริการฉายรังสีได้ตั้งแต่เทคนิคธรรมดาไปจนถึงเทคนิคขั้นสูง 3 มิติ หรือในลักษณะที่เป็นการผ่าตัดด้วยรังสี ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องที่ใช้ประโยชน์ได้เยอะมาก

ด้วยจุดเด่นของโรงพยาบาลมะเร็งอุบลฯ ที่มีบุคลากรล้วนแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์หรือพยาบาล ซึ่งบุคลากรของเราเมื่อเรียนจบออกมาทำงาน จะได้รับการศึกษาหรืออบรมเฉพาะทางไม่ว่าเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยทุกคนจะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะของแต่ละคนไป ประกอบกับในเรื่องของเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ที่ครบครัน พร้อมต่อการให้บริการผู้ป่วย เนื่องจากเราได้รับงบประมาณสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การพัฒนาในด้านต่างๆ ให้ดีขึ้นทุกปี

“เมื่อปีที่ผ่านมาเราได้เริ่มทำเรื่องของคลินิกให้คำปรึกษาทางพันธุกรรมโรคมะเร็ง เนื่องจากว่ามะเร็งบางอย่างสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ และโอกาสในการเป็นมะเร็งของคนกลุ่มนี้จะค่อนข้างสูง เราจึงมีการจัดตั้งคลินิกขึ้นมาเพื่อคัดกรองผู้ที่อาจมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งทางกรรมพันธุ์เข้าสู่คลินิกให้คำปรึกษา โดยจะมีการตรวจเลือดเพื่อหาการกลายพันธุ์ของยีนส์ อันจะทำให้ลดความเสี่ยงตรงนี้ หรือสามารถรักษาได้ทันท่วงที มันก็ถือเป็นกระบวนการป้องกัน เฝ้าระวังอย่างหนึ่ง และตอนนี้ที่เราทำก็จะเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้ ซึ่งในปี 2565 และอนาคตก็จะมีการดำเนินการและพัฒนาต่อเนื่องไปอีก” นพ.พงศธรกล่าว

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี กล่าวถึงเป้าหมายของโรงพยาบาลในอนาคตด้วยว่า เราต้องการที่จะเป็นโรงพยาบาลมะเร็งที่ครบวงจร ด้วยการมุ่งเน้นพัฒนาในด้านต่างๆ ซึ่งโรงพยาบาลดำเนินการมาโดยตลอดตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เริ่มตั้งแต่การฉายรังสี และขยายแผนกเป็นด้านการผ่าตัด เคมีบำบัด รังสีร่วมรักษา และการรักษาแบบประคับประคอง โดยการทำให้ทุกอย่างครบวงจรจะต้องใช้เวลาพอสมควร ทั้งนี้ ในด้านรังสีรักษาของเราค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว ฉะนั้นเรื่องต่อไปที่เราจะมุ่งเน้นคงเป็นเรื่องของการผ่าตัดที่ต้องทำให้เชี่ยวชาญและสมบูรณ์มากขึ้น

“อย่างไรก็ตาม เรามุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์ที่ให้บริการ และศูนย์วิชาการที่ดีในเขตภาคอีสานตอนล่าง ซึ่งเรามีอีกบทบาทหน้าที่หนึ่ง นอกเหนือจากด้านการบริการรักษา คือด้านวิชาการ ด้วยการให้ความรู้กับบุคลากรทางการแพทย์ในแต่ละสาขา เช่นเรามีคอร์สในการเรียน การอบรมของพยาบาลเยอะมาก ไม่ว่าเป็นรังสีรักษา เคมีบำบัด หรือประคับประคอง บางอย่างก็เป็นหลักสูตรเราเอง บางอย่างก็ร่วมกับที่อื่นๆ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาก็แสดงให้เห็นว่าเราพยายามพัฒนาทุกอย่างให้ดีทั้งเรื่องของการบริการ และความเชี่ยวชาญของวิชาการ รวมถึงงานวิจัยที่มีออกมาอย่างต่อเนื่องด้วย” นพ. พงศธรกล่าวทิ้งท้าย

ข้อมูล https://www.bizfocusmagazine.com/